การบรรพชา
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมหาธาตุ อยู่ในสำนัก พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) แล้วต่อมาก็ลาสิกขา ไปอยู่กับบิดา ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุเท่าไร และบรรพชาอยู่กี่ปี ไม่ปรากฏ แต่คงจะบรรพชาอยู่ระยะหนึ่ง อย่างน้อยสามเดือน ตามธรรมเนียมของเจ้านายในสมัยนั้น |
|
อุปสมบท
ในปีระกา พุทธศักราช ๒๔๐๔ เมื่อท่านอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบท ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีนามฉายาว่า "ญาณวโร" |
|
การศึกษา
เมื่อบวชแล้ว ก็ไปอยู่วัดโสมนัสวิหาร เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักสำเด็จพระวันรัต (ทับ) ตลอดมา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ท่านได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรก ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ต่อมาเข้าแปลอีก เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ สอบได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็น ๕ ประโยค |
|
สมณศักดิ์
ต่อมาในปีระกา พ.ศ.๒๔๒๘ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า "หม่อมราชวงศ์พระราชพงษ์ปฏิพัทธ์" ทรงพระราชทานตาลปัต พื้นแพรปักเลื่อม อย่างหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ให้ถือเป็นเกียรติยศ |
|
เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ของวัดโสมนัสวิหาร
ครั้นถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ได้ถึงมรณภาพ ท่านก็ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าอาวาส วัดโสมนัสวิหาร นับเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สอง
ต่อมาในปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เสมอตำแหน่งชั้นเทพพิเศษ ที่ราชทินนามเดิม พระราชพงษ์ปฏิพัทธ์ ปกครองวัดโสมนัสวิหาร ให้เจริญรุ่งเรืองเรียบร้อยตลอดมา จนถึงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านได้ถึงมรณภาพเมื่ออายุได้ ๖๒ ปี พรรษา ๔๒ ครองวัดอยู่ ๑๑ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๔๕ พร้อมกับทิ้งผลงาน และคุณความดีไว้ ณ เบื้องหลัง
|
|