หน้าแรก
English Version
  ประวัติวัด
  แผนที่ตั้งวัด
  แผนที่ภายในวัด
  ถาวรวัตถ
  ภาพจิตรกรรม
  ลำดับเจ้าอาวาส
  จำนวนพระสงฆ์
  วันสำคัญทางศาสนา
  ตารางแสดงธรรม
  ร.ร.พระปริยัติธรรม
  ร.ร.พุทธศาสนวันอาทิตย์
  โคลงสุภาษิต
  หนังสือธรรมะ
  ศาสนกิจของเจ้าอาวาส
 
 
 
  
๔. พระพุทธวิริยากร (จันทร์ จนฺทกนฺโต)

ชาติภูมิ   
             
ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร มีนามเดิมว่า จันทร์ โยมบิดาชื่อ บุญ โยมมารดาชื่อ เอม ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน (ตรงกับวันอาสาฬหบูชา) ปีเถาะ ตำบลบางเพลี้ยง อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
            เมื่อท่านยังเด็ก ได้ไปอยู่ ในความอุปการะ ของคุณงิ้ว และคุณยายน้อย ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา เมื่อท่านอายุได้ ๘ ขวบ ก็ได้มาอยู่วัดโสมนัสวิหาร กับสมเด็จ พระมหาวีรวงศ์ เมื่อครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นพระมหาเปรียญอยู่ ชีวิตของท่าน จึงอยู่กับศาสนามา ตั้งแต่เยาว์วัย ท่านจึงมีอุปนิสัยน้อมมาในทางบรรพชา เมื่อายุยังน้อย และท่านก็ได้ศึกษา เล่าเรียนหนังสือไทย และหนังสือขอม อยู่ที่สำนักวัดโสมนัสวิหารนี้เอง
การบรรพชาอุปสมบท   
       เมื่อท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัดโสมนัสวิหาร จนมีอายุพอสมควรแล้ว ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่บรรพชาเมื่ออายุเท่าไรไม่ปรากฏ ต่อมา เมื่อท่านอายุครบอุปสมบทแล้ว ก็ได้อุปสมบท พระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร เมื่อวันที่ พฤษภาคม ๒๔๓๐ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) เมื่อครั้งยังเป็นพระอมรโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านจึงนับว่าเป็นผู้มีโชคดี ที่ได้พระอุปัชฌาย์และอาจารย์ ที่สูงทั้งความรู้ ความสามารถ ทั้งวัตรปฏิบัติ และสูงทั้งสมณศักดิ์
 
สมณศักดิ์    
         
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นพระครูสมุห์ ฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เมื่อครั้งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นพระเทพโมลี จนกระทั่ง พระเทพโมลี ได้เลื่อนเป็น พระธรรมโกษาจารย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระธรรมพิมล ท่านก็ได้เลื่อน เป็นพระครูสรวิชัย ที่พระครูคู่สวด แล้วเลื่อนเป็นพระครูวินัยธรรม ต่อมาเลื่อน เป็นพระครูปลัด มีนามตามสัญญาบัตรว่า "พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ" ฯ ต่อมา ในปีพ.ศ. ๒๔๕๓ เมื่อพระพิมลธรรม (ยัง) ได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านก็ได้รับเลื่อน เป็นพระครูปลัด ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็น "พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์" ต่อมา ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ "พระพุทธวิริยากร" ในขณะที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ แทนเจ้าอาวาส ในขณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์อาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
 
การศึกษา   
      ท่านเจ้าคุณพุทธวิริยากร ได้เล่าเรียนหนังสือไทย หนังสือขอม และศึกษาพระธรรมวินัย ในวัดโสมนัสวิหาร มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสรูปที่หนึ่ง ท่านเจ้าคุณ พระราชพงษ์ปฏิพัทธ์ (ม.ร.ว.ล้น กล้วยไม้) เจ้าอาวาสรูปที่สอง จนถึงสมัย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสรูปที่สาม ของวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งตลอดระยะเวลานี้ วัดโสมนัสวิหาร เป็นทั้งสำนักปริยัติ และสำนักปฏิบัติ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปาฏิโมกข์ หลักสูตรสวดมนต์ของวัดจนจบ สวดภาณยักษ์ และภาณพระ (ภาณธรรมยุตหรือภาณยักษ์เล็ก) และสวดโสฬสปัญหา จนสามารถสอนศิษย์ได้ สำหรับการศึกษาบาลีนั้น ทราบว่าแม้ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร ไม่ได้เป็นเปรียญ โดยเข้าสอบสนามหลวงก็ตาม แต่ท่านก็มีความรู้ภาษาบาลี ชนิดใช้การได้ มีความสามารถ ที่จะแปลบาลี และสอนศิษย์ได้
 
เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของวัดโสมนัสวิหาร
         
เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มรณภาพลง ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร ก็ได้รับเป็นเจ้าอาวาสต่อมา แต่ความจริงแล้ว ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ แทนเจ้าอาวาสมาแล้วถึง ๑๕ ปี ท่านได้ปกครองวัดโสมนัสวิหารมา จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ก็ได้อาพาธเป็นโรคลำไส้พิการ และเจ็บกระเสาะกระแสะมาตลอด จนถึงมรณภาพ เมื่อเวลา ๑๒.๔๕ น. ของวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมอายุของท่านได้ ๗๒ ปี พรรษา ๕๒ โดยปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสอยู่ ๑๕ ปี เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ปีเศษ
 
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ l รูปที่ ๒ l รูปที่ ๓ l รูปที่ ๔ l รูปที่ ๕ l รูปที่ ๖ l รูปปัจจุบัน
© Copyright 2004 watsomanas.com All Right Reserved. www.Stats.in.th