หน้าแรก
English Version
  ประวัติวัด
  แผนที่ตั้งวัด
  แผนที่ภายในวัด
  ถาวรวัตถ
  ภาพจิตรกรรม
  ลำดับเจ้าอาวาส
  จำนวนพระสงฆ์
  วันสำคัญทางศาสนา
  ตารางแสดงธรรม
  ร.ร.พระปริยัติธรรม
  ร.ร.พุทธศาสนวันอาทิตย์
  โคลงสุภาษิต
  หนังสือธรรมะ
  ศาสนกิจของเจ้าอาวาส
 
 
 
  
 
๗. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

ชาติภูมิ   
       
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นามเดิมว่า พิจิตร ถาวรสุวรรณ เป็นบุตรคนโต ในจำนวนบุตร ๙ คน ของนายแก้ว และนางโผ้เลี่ยน ถาวรสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๙ ณ หมู่บ้านพังขาม อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมื่ออายุได้ ๕-๗ ขวบ บิดามารดา ได้ย้ายไปทำงานที่อื่น จึงได้อยู่ในความอุปการะ ของยาย คือ นางชุม แจ่มใส เมื่ออายุย่างเข้า ๘ ขวบได้ย้ายตามบิดามารดาไปอยู่ ณ บ้านดอนคัน เพื่อเข้าเรียน ในชั้นประถมศึกษา ที่ โรงเรียน ลือสิทธิ์วิทยา วัดธรรมประดิษฐ์ จนจบการ ศึกษา และได้ช่วยบิดามารดาทำงานอยู่ที่บ้าน จนอายุได้ ๑๕ ปี

จึงขออนุญาตบรรพชา แต่มารดาบิดาไม่อนุญาต จึงขอผลัดไว้อีก ๓ ปี ในระหว่างที่รอ ๓ ปี ก็ได้ช่วยบิดามารดาทำงานอย่างขยันขันแข็ง และเตรียมตัวในการบรรพชาอย่างจริงจัง เมื่อมีเวลาว่าง ก็ไปอยู่ที่วัดธรรมประดิษฐ์ เพื่อเป็นการฝึกข้อวัตรปฏิบัติ.
บรรพชา
     ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ก็ได้รับอนุญาตให้บรรพชาได้ โดยท่านเจ้าคุณพระอุดมศีลคุณ (เริ่ม นนฺทิโย) วัดบุรณศิริมาตุยาราม ผู้เป็นหลวงอา ในสมัยที่เป็นพระครูปลัดเถรธรรมวัฒน์ ได้นำไปฝากให้บวชที่วัดโสมนัสวิหาร โดยถวายตัวเป็นศิษย์ของพระวินัยวงศ์เทวี (พวง ธมฺมธโร ป.ธ. ๕) ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม ป.ธ. ๙) และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร.
 
อุปสมบท
     เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท ณ วัดโสมนัสวิหาร เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๙๙ โดยสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม ป.ธ. ๙ ) ในสมัยที่ยังเป็นพระอมรมุนี พระราชาคณะชั้นเทพ เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์.
 

การศึกษา
            พ.ศ. ๒๔๙๙ สอบได้ ป.ธ. ๓ และ นักธรรมชั้นเอก
            พ.ศ. ๒๕๐๐ สอบได้ป.ธ. ๔ และท่องพระปาฏิโมกข์ได้
            พ.ศ. ๒๕๐๑ สอบได้ ป.ธ. ๕
            พ.ศ. ๒๕๐๓ สอบได้ ป.ธ. ๖
            พ.ศ. ๒๕๐๕ สอบได้ ป.ธ. ๗
            พ.ศ. ๒๕๐๙ สอบได้ ป.ธ. ๘ และจบปริญญาตรี ศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) เกียรตินิยมอันดับ ๒ จากมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย
            พ.ศ. ๒๕๑๑ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง จากสำนักฝึกอบรมพระธรรมฑูตไปต่างประเทศ (พ.ธ.ต.)
            พ.ศ. ๒๕๑๒ สอบชิงทุนการศึกษาของสภามหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อไปศึกษาปริญญาโท ในประเทศอินเดีย และได้ทุนศึกษาขั้นปริญญาโท สาขาวรรณคดีสันสกฤต แล้วได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพาราณสี (B.H.U.) เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เป็นเวลา ๒ ปี และได้ ศึกษาภาษาฮินดี จนสามารถพูดภาษาฮินดีได้
            พ.ศ. ๒๕๑๔ สอบได้ปริญญาโท (M.A.) ทางวรรณคดีสันสกฤต และสอบได้อนุปริญญาทางภาษาฮินดี (Dip. in Hindi) จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย
            พ.ศ. ๒๕๑๗ สอบได้ ป.ธ. ๙

 
เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ ของวัดโสมนัสวิหาร
     จนกระทั่งสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺมเถระ) ได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปี พระสาสนโสภณ ก็ได้ครองวัดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน.
 
สมณศักดิ์
             พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระศรีวิสุทธิกวี"
             พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชวิสุทธิกวี"
             พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพวิสุทธิกวี"
             พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมวิสุทธิกวี"
             พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นราชาคณะชั้นหิรัญญบัตรที่ "พระสาสนโสภณ"
             พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นราชาคณะชั้นสุพรรณบัตรที่ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์"
 
ตำแหน่งหน้าที่
             พระสาสนโสภณ ได้รับตำแหน่งหลายตำแหน่ง ในพระศาสนามาตามลำดับ คือ เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร, รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุต) และกรรมการคณะธรรมยุต.
 

งานพิเศษ
     ๑. ได้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนาออกมาแล้ว ๑๕๓ เล่ม แต่มอบให้มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยลัยพิมพ์ออกเผยแพร่ขณะนี้ ๒๐ เล่ม
     ๒. เป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานประจำวัดโสมนัสวิหาร และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดสอนกรรมฐานให้แก่ภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีประสบการณ์การสอนกัมมัฏฐานมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี
     ๓. เป็นวิทยากรบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามสถาบันและสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด
     ๔. มีประสบการณ์จากการเดินทางไปดูงานพระศาสนาในต่างประเทศมากกว่า ๓๒ ประเทศ
     ๕. เป็นอาจารย์บรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนา ในมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก.

 
เจ้าอาวาสรูปที่ l รูปที่ l รูปที่ l รูปที่ l รูปที่ l รูปที่ l รูปปัจจุบัน
 
© Copyright 2004 watsomanas.com All Right Reserved. www.Stats.in.th