สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

คลิ๊กชมภาพขนาดใหญ่
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ปฐมบรมราชอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔
(เก็บความตามพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเธียรมหาราชเจ้า พระราช
ทานเซอร์ยอนเบาริง ราชทูตอังกฤษ แต่เมื่อกระนั้น)    พระขัตติยนารีพระองค์นี้ มีพระประสูติวาร ในวันอาทิตย์ สุรทินที่ ๒๑ เดือนธันวาคม ปีมะเมีย พุทธศก ๒๓๗๗ (เดือนอ้าย แรม ๖ ค่ำ) เป็นพระธิดาองค์เดียว ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๓) พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งสิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้วแต่
ในต้นเดือนมิถุนายน ปีมะแม พุทธศก ๒๓๗๘ เมื่อพระบุตรี พึ่งมีพระชนมายุได้เพียง ๖ เดือน เท่านั้น
 
   ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาเมตตาการุญภาพ ในพระราชนัดดากำพร้าพระองค์นั้นยิ่งนัก โปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จเข้ามา จากวังพระบิดา และอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงไว้ ในพระบรมมหาราชวัง อย่างพระราชธิดา ของพระองค์เอง ทรงเจริญพระชนมายุ เกษมสวัสดีมา โดยพระอาทรทะนุถนอม ของพระเจ้าป้า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๓) กรมขุนอัปศรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิง วิลาศ) ซึ่งมาสิ้นพระชนม์ลงเสียแต่ในปีมะเส็ง พุทธศก ๒๓๘๘ เมื่อพระภาติกายังทรงพระเยาว์ พึ่งมีพระชันษาได้ ๑๒ พรรษาเท่านั้น.

 
   เมื่อสิ้นพระเจ้าป้าเสียแล้วเช่นนี้ สมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งทวีพระเมตตากรุณาหนักขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้หม่อมเจ้าหญิงพระราชนัดดาองค์นี้ เป็นผู้รับทรัพย์มรดกทั้งสิ้น ทั้งของพระบิดาและพระเจ้าป้าแต่พระองค์เดียว ทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้น เสมอพระราชธิดา เป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
 
   เมื่อถึงกำหนดโสกันต์ ในปีมะเมีย พุทธศก ๒๓๘๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ แห่ใหญ่อย่างพระยศเจ้าฟ้า ทั้งทรงพระสิเนหา ยกย่อง เฉลิมพระเกียรติศักดิ์นานัปการ ให้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น
 
   ครั้นพระบาทสมเด็จ พระนั่งเหล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษก สืบพระบรมราชจักรีวงศ์ สนององค์สมเด็จ พระบรมเชษฐาธิราชเจ้า สกลราชมาตรี รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีมนตรีมุข เป็นพร้อมกันว่า ถึงบัดนั้น พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี หามีที่พึ่งพาปกครองอุปถัมภ์บำรุง เหมือนสมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้า ซึ่งเสด็จสวรรคตเสียแล้วนั้นไม่ ก็พากันสงสาร ทั้งเห็นเป็นสหฉันท์ว่า พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็พึ่งลาพระผนวช จากภิกษุภาวะ ซึ่งทรงบำเพ็ญ พระเนกขัมบารมีมาตั้ง ๒๗ พรรษา ยังหามีพระอัครมเหสี สมพระเกียรติยศ ตามพระราชประเพณี (อันเป็นพระขัตติยนารี ซึ่งจะได้มีพระราชโอรส สมสืบสันตติวงศ์) ไม่จึงพร้อมใจกัน ใคร่ให้ได้มีความสัมพันธ์ ในระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งราชาภิเษกใหม่ และพระองค์เจ้า โสมนัสวัฒนาวดี โดยราชาภิเษกสมรส เฉลิมพระเกียรติยศ พระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี จึงได้ตั้งการมงคลราชพิธี บรมราชาภิเษกสมรส เมื่อ ณ วันอาทิตย์ สุรทินที่ ๒ เดือนมกราคม ปีกุน พุทธศก ๒๓๙๔ ขณะนั้น พระชนมายุพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๔๘ พรรษา พระอัครมเหสี ๑๘ พรรษา ปรากฏพระนามาภิไธยสืบต่อมาว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี
 
   ตั้งแต่ราชาภิเษกสมรส ดำรงพระอิสริยยศ เป็นพระอัครมเหสี ร่วมพระราชหฤทัยพระราชสวามีมา โดยสนิทสนมกลมเกลียว ทั้งในส่วนพระองค์ และทางราขการแผ่นดิน เป็นที่เคารพนับถือ และเครื่องบรรณาการ จากหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยทุกสารทิศ และได้ทรงรับความเป็นมิตร
ภาพ และบรรณาการ จากข้าราชการ และท่านผู้มีศักดิ์ ชาวต่างประเทศ ในนานาประเทศ บรรดาแต่ก่อน เคยผูกมิตรสันถวะ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีอักษรติดต่อถึงกัน เพราะฉะนั้น พระนางย่อมเสวยสุขสำเริงพระหฤทัย มาตลอดเวลา ๖ เดือน ซึ่งทรงพระครรภ์ตามปรกติภาพ

 
      ครั้นเดือนถัดไป อุปัทวเหตุอันน่าสยดสยอง อย่างเคราะห์ร้ายที่สุด ได้ท่วมถึงพระนาง จับทรงพระประชวรโรค ถึงสังหารพระชีวิต ซึ่งในชั้นแรก ดูเหมือนพอจะรักษาให้หายได้ บรรดาแพทย์หลวง และหมอฝรั่งเชื่อว่า พระภยามัยเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดา สำหรับสตรีมีครรภ์ ไม่อัศจรรย์ถึงน่าตระหนกตกใจอย่างใดเลย ด้วยเป็นแต่ทรงพระอาเจียนเนือง ๆ และเบื่อพระอาหารเท่านั้น แต่อาการพระโรครุนแรงขึ้น ครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศก ๒๓๙๕ คือจับปวดพระอุทร แพทย์หลวงถวายอภิบาล ทรงคลื่นเหียน และทรงพระอาเจียน ปวดพระอุทรอยู่เพียง ๔-๕ วัน
 
     ตั้งแต่วันจันทรุปราคาที่ ๑ กรกฎาคม ก็ดูเหมือนพระนางหายประชวร ทรงพระสำราญเป็นปรกติตลอดมาได้ราว ๔๐ วัน ครั้นพระครรภ์ล่วงเข้า ๗ เดือน พระโรคปวดพระอุทร ก็กลับเป็นมาเหมือนคราวก่อน และจับทรงพระอาเจียนร่ำไปในราตรี วันที่ ๑๐ สิงหาคม ครั้นรุ่งขึ้น ก็ปรากฏพระอาการไข้ พระองค์ร้อนยิ่งขึ้น จนวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ้นนั้มก็ทรงพระทุเลาขึ้น เกือบจะทรงพระสบายเหมือนคราวก่อน เป็นแต่ยังทรงอ่อนเพลียอยู่ เสวยพระอาหารมิใคร่ได้ดังปรกติ ครั้นราตรีวันที่ ๑๗ สิงหาคม พระนางกลับล้มประชวรพระโรคอย่างเดิมอีก แต่ยิ่งร้ายแรงกว่าเคยเป็นมาครั้งก่อน การทรงคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียน ก็กำเริบเรื่อยทั้งทิวาราตรีกาล ซ้ำรัญจวนพระอุทรรวดเร้า จนเห็นกันว่า น่าที่จะประสูติพระราชดนัยเสียเป็นแน่แล้ว ก็เป็นจริงสมคาด.
 
      ในวันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม เวลา ๑ นาฬิกาหลังเที่ยง สมเด็จพระนางเจ้า พระอัครมเหสี ประสูติพระราชกุมาร บรมราชโอรส โดยเรียบร้อย และมีพระชนม์ เป็นแต่พระกำลังอ่อน และพระองค์ย่อมทรงพระกันแสง และแสดงอาการอย่างชีวิทารกแรกเกิดโดยปรกติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อส่อดุษฎีภาพทั่วไป ในมิช้า พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้า ก็มาชุมสุมเนืองอนันต์ เพื่อชื่นชมพระบารมี ถวายพระพรรัชทายาท ซึ่งเสด็จอวตารมาโดยมหาประสูติ
ชาวประโคมก็ประโคมดุริยดนตรี เป่าสังข์กระทั่งแตรย่ำฆ้องชัยนฤนาถ เพื่อสำแดงโสมนัสประโมทย์ ในมหามงคลฤกษ์ เชิญพระราชโอรสบรรทม ณ พระแท่นแว่นฟ้าทอง หุ้มด้วยพระกระโจมเศวตวัตถา สองพระแสงราชาวุธ พระสุด และดินสอ ฯลฯ ไว้รอบล้อม ตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ระแวดระวังพิทักษ์ พระกุมารอย่างกวดขัน แต่ต่อเวลาพระประสูติมาอีก ๓ ชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะ พระราชกุมาร ก็หยุดลงเสียเฉย ๆ ใน ๔ นาฬิกาหลังเที่ยงวันนั้น พระชีพดำรงอยู่ได้น้อยเวลานัก
 
    เจ้าพนักงาน เชิญพระศริระพระกุมาร (ลงกุมภ์ขนัน) ไปเสียเป็นการลับ มิให้พระนางราชมารดาทราบเงื่อนสาย ทำประหนึ่งว่า เชิญไปพิทักษ์ไว้ในห้องอื่น ด้วยแม้ประสูติพระราชกุมารแล้ว พระอาการพระนาง ก็ยังคงเป็นอยู่อย่างเดิม และในราตรีแรก พระอาการยิ่งกลับทรุดลงโดยทรงพระอาเจียน จะเสียพระชีพลง ในราตรีวันที่ ๒๓ สิงหาคม นั้นอยู่ร่อแร่ ได้ประชุมแพทย์หลวงปรึกษากัน เพื่อพยายามแก้ไขให้ฟื้น แต่ไม่มีแพทย์ไหนสามารถ ให้สงบพระอาเจียรได้ แม้แต่เพียงครึ่งชั่วโมง พระบรมวงศ์เธอ (ชั้น๒) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงพยายามถวายยาฝรั่งเพียง ๑ หรือ ๒ หยด ฤทธิ์ยานั้นระงับพระอาเจียน ซึ่งพระนางต้องทรงพระทรมานความลำบากมา เกือบตลอดคืนนั้นให้สงบลงได้ ค่อยทรงพระสบายถึงบรรทมหลับได้เมื่อ ๔ หรือ ๕ นาฬิกาก่อนเที่ยง
    ครั้นรุ่งขึ้น (วันที่ ๒๓ สิงหาคม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น๒) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และพระเจ้าบรมวงศ์ พระอนุวงศ์ องค์อื่นอีกหลาย ทั้งพระญาติ นางใน ประชุมปรึกษากับแพทย์หลวงมากท่าน เพื่อจะให้หมอ ดี.บี.บรัดเล ผู้เป็นหมออเมริกัน ซึ่งบัดนั้นอยู่ในกรุงสยาม และตรัสให้เชิญมาปรึกษาหารือด้วยนั้น ถวายอภิบาล

 
   ลำดับนั้น หมอ ดี.บี.บรัดเล ก็เริ่มรักษาตามวิธีแพทย์ฝรั่งอย่างใหม่ ซึ่งหมอผู้น้นเอง เพิ่งพามาใช้ในกรุงสยาม ในจำพวกชาวสยาม ไม่มีใครใคร่เชื่อนัก มีแต่เห็นจำเป็นสมควรจะปฏิบัติ ตามพระประสงค์ ของพระนางเอง เพื่อให้ถวายอภิบาล ตามลัทธิของไทย ที่เคยใช้ในยามสตรีคลอดบุตร ตามปรัมปรามา พระนางก็ต้องบรรทมเพลิง อย่างใช้กันทั่วประเทศ เมื่อแม่หญิงคลอดบุตร ถ้าจะห้ามเสีย ตามคำแนะนำของหมอฝรั่ง ทั้งขับนางใน ซึ่งรอบล้อมพระนางอยู่ให้ออกเสียสิ้น เหลือไว้น้อยนาง เฉพาะที่นิยมนับถือหมอฝรั่ง ฉะนั้น ก็ย่อมจะเป็นข้อเดือดร้อนทั่วไป. ตั้งแต่หมออเมริกัน ถวายอภิบาลอย่างฝรั่งมา ดูเหมือนพระอาการไม่ดีขึ้นเลย การที่ทรงคลื่นเหียน และทรงพระอาเจียน ทั้งทรงสะท้านไข้ ก็ยังเป็นอยู่เสมอเป็นครั้งคราว ไม่ระงับได้ขาดตลอดเวลา ๗ หรือ ๘ วัน เมื่อถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ ๗ จำเดิมแต่เจ้าฟ้าพระราชโอรสน้อย ของพระนางสิ้นพระชนม์ (เจ้าฟ้าเป็นคำนำพระนามอันสมพระอิสริยยศพระราชโปดก ซึ่งประวัติ จากพระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี หรือพระขัตติยนารีอันสูงศักดิ์ หรือประสูติจากเจ้านายชั้นอื่น ๆ บรรดาพระมารดา ทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า หรือเป็นเจ้าฟ้าทั้งอุภโตปักษ์ ในประเทศสยาม) พระนางเจ้าทรงทราบข่าวสิ้นพระชนม์ แห่งเจ้าฟ้าพระราชโอรส จึงพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี พร้อมกันทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายมหัคฆภัณฑ์ แด่พระสงฆ์พุทธชิโนรส บรรดามาชุมนุม และทรงโปรยทาน บรรจุเงินตราสยาม ในผลมะนาว พระราชทาน แด่บรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ทั้งฝ่ายใน ฝ่ายหน้า บรรดาเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเวลาทรงบำเพ็ญทักษิณาทานุทิศนั้น การเช่นนี้ เป็นประเพณีการพระศพ สมเด็จพระราชโอรสเจ้าฟ้า (ต่อมาออกพระนามว่าเจ้าฟ้าโสมนัส) พระโอรสของสมเด็จพระนางเจ้า แม้มีพระชนม์อยู่เพียงชั่วสามนาฬิกา ก็ยังคงได้ทรงรับพระเกียรติยศ สมพระอิสริยศักดิ์

 
    ตั้งแต่วันที่ ๒๔ และ ๓๐ สิงหาคมมา พระอาการสมเด็จพระอัครมเหสี ก็ทรุดลง พระอาเจียนเป็นสีดำ สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งแพทย์หลวงว่า เพราะน้ำพระดีผสมกับสิ่งอื่น ในพระอันตะอันพิการนั้นหลั่งไหล ไข้ซึ่งเคยทรงจับนั้น ก็สะท้านรุนแรงมากขึ้น จนพระเทพจรเต้นรุกเร่งถี่มาก หมอบรัดเลย์ จึงกราบทูลอุทรณ์ ต่อองค์สมเด็จพระนางเจ้าเอง และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ขอให้เชิญเสด็จพระนางออกพ้น จากการบรรทมเพลิง อย่างธรรมเนียมไทย ให้หมอได้ถวายอภิบาลอย่างฝรั่ง เต็มที่ตามพอใจทุกประการเถิด ก็ได้พระอนุญาตตามปรารถนา เมื่อถวายอภิบาลอย่างฝรั่งเต็มที่ ในชั้นแรก พระอาการสมเด็จพระนางเจ้า ดูเหมือนจะค่อยทุเลาขึ้น โดยหยุดทรงคลื่นเหียน และไม่ทรงพระอาเจียน ทั้งไข้ก็ไม่ทรงจับ แต่ยังเสวยมิใคร่ได้ ทั้งยังทรงอ่อนเพลียเป็นกำลัง
ปรากฏพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ทรงพระโศผะขึ้นที่พระบาท และพระอติสารอาการปรากฏ แก่แพทย์หลวง และพระญาติ พระมิตรข้าหลวง ต่างพากันตระหนกตกใจ ปรึกษากัน ตกลงขอให้ลองให้แพทย์หลวง ถวายอภิบาลอย่างไทยอีก พูดตามจริง องค์สมเด็จพระนางเจ้าเอง ก็ทรงสำนึกมิพอพระทัย ด้วยเป็นฝรั่ง ทรงเห็นว่าเป็นแขกบ้านค้านเมือง ทั้งวิธีถวายอภิบาลอย่างฝรั่ง ซึ่งถวายพระโอสถ มีหยดสุราลงในน้ำใสเพียง ๑ หรือ ๒ ฉลองพระหัตถ์เท่านั้น ให้เสวยบ่อย ๆ ทั้งถ้อยคำของหมอฝรั่งคนนั้น หรือคนไทยที่เชื่อถือหมอ ก็จวนจะไม่น่าเชื่อได้เสียเลย ด้วยหมอรับว่า ยังไม่เคยมีตัวอย่างคนไข้ที่ไหน ที่หมอเคยรักษา มีอาการเหมือนองค์พระนางเลย แต่สักรายเดียว เมื่อกลับให้แพทย์ ไทยถวายอภิบาลอย่างไทย ได้ตั้งสามวัน พระอาการพระนางจะค่อยทุเลาขึ้น แม้น้อยก็หามิได้ มีแต่ทรุดหนักลง ทั้งไม่มีหมอหลวงผู้ใด กล้ากราบบังคมทูลพระกรุณา ยืนยันรับแก้ไขให้ทรงพระสำราญขึ้นได้ เหตุฉะนี้ จึงรับสั่งให้หาหมอบรัดเลย์ กลับมาถวายอภิบาลอีกดังเดิม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้วิธีรักษาสุดแต่ใจ เมื่อเวลาแพทย์สยามถวายอภิบาลนั้น พระอาเจียนสีดำ สีเหลือง และสีเขียวก็ยังมีอยู่เรื่อยไป ทั้งยอกเสียดในพระอุระประเทศก็ซ้ำแทรกมา วันหนึ่ง ๆ เป็นตั้ง ๗ หรือ ๘ ครั้ง ตั้งแต่ให้หมอบรัดเลย์ กลับถวายอภิบาลใหม่อย่างลัทธิฝรั่งอย่างใหม่ (เลิกใช้ลัทธิอย่างเก่าที่หมอเคยใช้มานมนาน)

 
     ถึงวันที่ ๑๖ กันยายน ดูเหมือนสมเด็จพระนางเจ้า ทรงพระทุเลาขึ้นเล็กน้อย ด้วยมิใคร่จะทรงพระอาเจียน เป็นสีดำ หรือสีเหลือง และสีเขียว ซึ่งคาดกันว่าน้ำพระดีไหลลงในพระทรวง ก็ห่างและน้อยกว่าวันก่อน ๆ พระไข้ก็สงบ แปลกกว่าแพทย์หลวงยังรักษาอยู่ แต่ยังทรงอ่อนเพลีย และการทรงปฎิเสธ มิเสวยพระอาหารก็ยังคงอยู่ เพราะยังทรงพระอาเจียนอยู่ เหมือนทุกๆ วัน ด้วยไม่เคยมีวันใดที่ไม่ทรงพระอาเจียนเลย แม้จะถวายพระโอสถไทย ฝรั่งขนานไหน ๆ ก็ระงับขาดมิได้เสียทั้งนั้น เวลาล่วงไปน้อยราตรี หมอบรัดเลย์ ก็ไม่สามารถจะบรรเทาพระอาเจียน ให้น้อยลงได้ ซ้ำกลับบ่อยๆ หนักขึ้น พื้นพระอาการออกน่าสะทก ด้วยพระฉวีที่พระพักตร์ และพระองค์ก็เหลือง แลเห็นถนัด เหตุฉะนั้น จึงต้องปล่อยให้หมอหลวงฝ่ายไทย ถวายอภิบาลต่อไปอีกดังเดิม แต่แพทย์หลวงทั้งสิ้น ไม่มีใครกล้ารับ ที่จะฉลองพระเดชพระคุณ แก้ไขให้หาย หรือแม้จะให้บรรเทาได้ไหว โดยหมดวิชา และสติปัญญา จะประกอบพระโอสถ เหตุฉะนั้น จึงทราบพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ป่าวร้องประกาศ จะพระราชทานบำเหน็จเงินตรา ๒ หาบ หากผู้ใด สามารถแก้ไข ให้พระอัครมเหสี ที่ทรงพิศวาส พ้นมรณามัยพินาศ กลับคืนทรงพระสบายปรกติดังเดิมได้
    จำเดิมแต่พระอาการทรุดหนักลง ในมือหมอบรัดเลย์ พระเทพจรก็เร็วทวีขึ้น ถึง ณ วันที่ ๒๗ กันยายน จับเฟือนพระสติ เพราะเมื่อวันประกาศป่าวร้อง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ตั้งบำเหน็จพระราชทาน ๒ หาบ ถ้าผู้ใดแก้ไข สมเด็จพระอัครมเหสี ให้ฟื้นจากพระโรคาพาธ เป็นปรกติได้นั้น มีหมอเฒ่าไทยเชลยศักดิ์ผู้หนึ่ง เข้ามาอาสาฉลองพระเดชพระคุณ ด้วยยาศักดิ์สิทธิ์จนสุดกำลัง แต่ขอตรวจพระอาการก่อน ก็ได้พระบรมราชานุญาติ ให้เข้าเฝ้าและตรวจตรา แต่หมอเฒ่าเข้าใจพระโรคผิด อ้างว่า พระโรคพระอัครมเหสี มากมายไปนั้น เพราะรักษาผิดคัมภีร์ ภาคครรภรักษา โดยพระนางบรรทมเพลิงน้อยเวลานัก หมอเฒ่าสมัครจะรักษา ด้วยยาศักดิ์สิทธิ์ให้หายเป็นปลิดทิ้ง จึงได้วาจายืนยันมั่นคง ของหมอเฒ่านี้ พระนางเจ้าอัครมเหสี ทรงหายพระทัยครั้งสุดท้าย ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศก ๒๓๙๕ เพลา ๖ นาฬิกาหลังเที่ยง เสียงโศกาลัยอาดูรภาพ ปริเทวนาการ แห่งพระประยูรวงศาข้าหลวง ในราชสำนักขณะนั้น สร้านสนั่น น่าอเนจอนาถยิ่งนัก
      ได้สรงพระศพพระนางเจ้า และทรงเครื่องขัตติยมราภรณ์ศุกลัม ตามพระราชประเพณี พระอัครมเหสี อันสูงศักดิ์ สมพระเกียรติยศ อย่างเต็มที่ ห่อด้วยกัปบาสิกะ เศวตพัสตร์หลายชั้น แล้วเชิญลงพระลองทอง และสรวมพระชฎากษัตริย์เหนือพระศิโรเพศ ประกอบพระโกศทอง แห่จากพระตำหนัก พระอัครมเหสีในราตรีนั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานไว้เหนือพระแท่นแว่นฟ้า ตรงที่ตั้งพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ไตรรัตน์มาส คือ แต่เดือนเมษายน พุทธศก ๒๓๙๔ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ศกนี้. พระศพสมเด็จพระนางเจ้า พระอัครมเหสีพระองค์นี้ ก็ประดิษฐานไว้โดยมหศักดิ์ สมพระเกียรติยศอย่างสูง ประดับรอบล้อมไปด้วยสรรพสิ่งอลงกตทั้งปวง บรรดาเฉลิมพระอิสริยยศ จนกว่าจะได้พระราชทานเพลิง ซึ่งคงจะกินเวลาราว ๔ หรือ ๕ เดือน ด้วยการสร้างพระเมรุ และประกอบการพระราชพิธี สมพระอิสริยศักดิ์ บางทีจะตกราวเดือนมีนาคมศกนี้ หรือเดือนเมษายนศกหน้า (๑๙ มีนาคม ๒๓๙๖)
 
     สมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ พระองค์นี้ เป็นพระราชบุตรีบุญธรรม ที่ทรงพิศวาสอย่างยิ่งยวด ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแต่ยังทรงพระเยาว์ และเลื่อนพระอิสริยยศ ในราชตระกูลสูงขึ้น จนพระชันษา ๑๓ ปี ทรงดำรงศักดิ์สูงสุด เสมอเจ้าฟ้าพระราชธิดาฝ่ายใน
และได้เป็นพระอัครมเหสี คู่พิศวาส ของพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินสยาม มาแต่เมื่อเริ่มคริสตศักราชศกนี้ ทรงพระสำราญพระชนม์ชีพ ร่วมสันนิวาส กับพระบาทสมเด็จ พระบรมราชสวามี โดยถูกต้องขัตติยนิติราชประเพณี ผู้เป็นมหากษัตราธิราชสยาม ดำรงพระอิสริยศักดิ์อย่างสูงสุด โดเกษมสวัสดิ์มาได้เพียง ๗ เดือน คือ แต่เดือนมกราคม ถึงปลายเดือนกรกฎาคม แต่จำเดิมแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม จนวันที่ ๑๐ ตุลาคม รวม ๒ เดือน หรือ ๖๒ วัน พระนางทรงพระประชวร เมื่อฉะนี้ พระนางทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ เป็นพระอัครมเหสีอยู่เพียง ๙ เดือน และเศษอีกน้อยวันเท่านั้น โดยเหตุที่พระนางมาสู่สวรรคตเสีย ด้วยอุบัติเหตุ แต่ในเวลากำลังทรงพระวัย เป็นยุพดีกษัตรีย์ ทั้งทรงพระคุณสมบัติ สมควรเคารพนับถืออย่างยิ่งยอด และยังมีทางจะทรงพระเจริญรุ่งเรืองสืบไปภายหน้า เริ่มแต่ได้เสวยสุขสำเริงอย่างเต็มเปี่ยมมา ได้น้อยเวลาฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และท่านผู้อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ใช่แต่ในกรุงสยาม แต่ยังลามไปถึงอเนกนิกรมนุษย์ ในแว่นแคว้นชาวเมือง ต่างประเทศด้วย
 
     เมื่อพระอัครมเหสีสวรรคตแล้ว บรรดาแพทย์ไทย จีน และอเมริกา ลงความเห็นกันว่า มีเหตุอันน่าเชื่ออย่างยิ่ง ที่จะรู้หรือจะเชื่อว่า มูลพระโรคซึ่งยากที่จะบำบัดอย่างยิ่ง และในที่สุดถึงทำลายพระชีวิต อันมีค่าสูงสุด แห่งสมเด็จพระนางเจ้า พระอัครมเหสี ได้เกิดขึ้นโดยลับ ๆ มาแต่ก่อนราชาภิเษกสมรส กับพระบาททสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวนั้นแล้ว ด้วยพระนางทรงอวบพระองค์ ผิดธรรมดานารี ซึ่งมีวัยเสมอพระนาง และกลับซูบพระกายลงทันที ทั้งทรงพระกาสะด้วย แต่พระปฐมอาการประชวร ของพระนางนั้น ภายหลังมาปรากฏขึ้นแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายนนี้
ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้า อัครมเหสีพระองค์นี้ แต่เบื้องหลังหม่อมเจ้า กำพร้าพระบิดา และได้มาเป็นพระราชบุตรีบุญธรรม ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน โดยเดชะพระมหากรุณาธิคุณ พระนางจึงเป็นผู้รับมรดก ทั้งสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ บรรดาเป็นของพระบิดา และพระเจ้าป้า ถึงบัดนี้ พระนางหามีพระภาดา หรือพระภคินีร่วม หรือต่างพระชนนีองค์ใดองค์หนึ่งอีกไม่ เพราะพระนาง ทรงเป็นพระธิดาโทน ของพระชนกของพระนาง จึงบัดนี้ หามีตัวทายาท ผู้จะรับพระมรดกไม่ บรรดาทรัพย์ศฤงคาร ของพระนางทั้งสิ้น รวมทั้งตัวเงินตราก็มาก ทั้งเงินขึ้นประจำปี หรือพระสมบัติส่วนพระองค์นั้น ก็จำต้องตกเข้าพระคลังหลวง เมื่อเสร็จงาน พระเมรุพระราชทานเพลิงแล้ว ตามอย่างธรรมเนียม. พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้ตกลงพระราชหฤทัยว่า พระสมบัติของพระนางส่วนหนึ่ง เป็นจำนวนเงินมาก จะได้จ่ายเพื่อเพิ่มพูนทักษิณกุศล บูรณะสังฆาวาสของพระบิดา
(บางทีจะเป็นวัดราชนัดดาอุทิศถวาย) และของพระเจ้าป้า ของสมเด็จพระนางเจ้า (คือวัดเทพธิดา) แต่อีกส่วนหนึ่ง จะได้จ่ายสร้างพระอารามใหม่ ที่เขตกำแพงเมืองใหม่ แห่งพระมหานครนี้ ในพระนามาภิไธย ของพระนางว่า “วัดโสมนัสวิหาร” และที่เหลือนอกนั้น จะได้จ่ายบุรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม อันจำเป็นต้องช่วยเหลือ เพื่อสาธารณประโยชน์ แห่งพระมหานครนี้
 
    
 
 หน้าแรก  ประวัติวัด  แผนที่ตั้ง ถาวรวัตถุ  ภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ลำดับเจ้าอาวาส   จำนวนพระสงฆ์   วันสำคัญทางศาสนา   วันพระตามปักษ์
ตารางแสดงธรรม  ตารางอบรมกรรมฐาน  พุทธศาสนาวันอาทิตย์  หนังสือธรรมะ  แฟ้มภาพ  บอร์ดสนทนา
© Copyright 2004 Watsomanas.com All Right Reserved.