หน้าแรก
English Version
  ประวัติวัด
  แผนที่ตั้งวัด
  แผนที่ภายในวัด
  ถาวรวัตถ
  ภาพจิตรกรรม
  ลำดับเจ้าอาวาส
  จำนวนพระสงฆ์
  วันสำคัญทางศาสนา
  ตารางแสดงธรรม
  ร.ร.พระปริยัติธรรม
  ร.ร.พุทธศาสนวันอาทิตย์
  โคลงสุภาษิต
  หนังสือธรรมะ
  ศาสนกิจของเจ้าอาวาส
 
 
 
  
ประวัติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ณ พระเจดีย์ในพระวิหาร วัดโสมนัสวิหาร
             ในรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงทอดกฐิน ที่วัดโสมนัสวิหาร ได้ทรงบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งทรงได้รับ มาจากประเทศอินเดีย ที่พระเจดีย์องค์ใหญ่ ดังปรากฏในหนังสือ ข่าวราชการ ซึ่งพระองค์เทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ) ทรงบันทึกไว้ว่า....
 
      “เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานพระกฐินกรุงเทพ ฯ ณ วันพุธ เดือน ๑๑ ค่ำ ปีกุน สัปตศก ศักราช (พ.ศ. ๒๔๑๘) เวลาเที่ยงกับ ๒๐ มินิต (นาที). พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องฉลองพระองค์เต็มยศ อย่างตำรวจ (สีน้ำเงิน) ทรงเครื่องราชอิสริยยศ อย่างสูงทั้ง ๔ องค์ แต่สายสะพายนั้น เป็นสายสำหรับนพรัตนราชวราภรณ์ (เหลือง) เสด็จออกทรงพระราชยาน แต่พระทวาร หน้าพระที่นั่งสมมุติเทวราชอุปบัติ ไปประทับ ที่เกยท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเรือพระที่นั่ง ทวยเทพถวายกร พร้อมด้วยเจ้าพนักงานตามเสด็จ ในเรือพระที่นั่ง คือ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนเอดเดอกง ๑ พระยาภาสกรวงศ์ ๑ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ๑ เจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ ๑ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ๑ เจ้าพนักงานกรมภูษามาลา ๒ กรมมหาดเล็ก ๑ กรมอาลักษณ์ ๑ กรมหมอ ๒ กรมแสง ๔ กรมฝีพาย ๒ รวม ๑๗ ฝีพาย ๕๑ รวม ๖๘. เรือวิมานเมืองอินทร์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือไตรสรมาศ (คือเรือผ้าไตรองค์กฐิน) มีเรือขบวนแห่ตามเคย เหมือนแต่ก่อน. ระยะทางแต่ท่าราชวรดิษฐ์ ถึงฉนวนวัดโสมนัสวิหาร ที่ ๑ เป็น ๑๑๓ เส้น เวลาบ่ายโมงครึ่ง จึงประทับเรือพระที่นั่ง ที่ฉนวนหน้าวัด แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นทรงพระราชยาน ไปประทับ ที่ประตูกำแพงแก้ว หน้าพระอุโบสถแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับที่พระเจดีย์ ขึ้นบนเกย ซึ่งปลูกติดกับพระเจดีย์.
 
      เวลาบ่ายโมง กับ ๔๓ มินิต (นาที) ทรงบรรจุ พระบรมธาตุ บรรจุในกล่องเหล็ก และมีแผ่นศิลาข้างด้านหน้า จารึกพระไตรลักษณ์ และด้านหลัง จำหลักเป็นดวงชะตา วันประสูติ คือ วันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ลงในแผ่นที่ ๑, แผ่นที่ ๒ นั้น ด้านหน้า เป็นอริยสัจ ด้านหลัง เป็นดวงชะตา วันได้ตรัสรู้ คือ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีระกา, ในแผ่นที่ ๓ นั้น ด้านหน้า เป็นปฎิจจสมุปบาท ด้านหลัง เป็นดวงชะตา วันปรินิพพาน คือ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน. ศิลาทั้ง ๓ แผ่นนี้ ปิดทองล้วน ถุงผ้าขาวห่อแล้ว เจ้าพนักงานราชบัณฑิต ได้เชิญทูลเกล้า ฯ ถวาย.
 

     ครั้นทรงบรรจุ ในพระเจดีย์เสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ เข้าประทับ ในพระอุโบสถ ทรงนมัสการ พระพุทธปฎิมากรแล้ว นายบำเรอ จึงทูลรายงานพระสงฆ์ คือ มีจำนวนพระสงฆ์จำพรรษา ในพระอารามนั้น. พระราชาคณะ ๑ หม่อมเจ้าพระในกรมหลวง สรรพศิลปปรีชา ๑, หม่อมราชวงศ์ ในหม่อมเจ้าเนตร ในกรมหมื่นสุนทรธิบดี ๒, ฐานานุกรม ๘, เปรียญ ๓, อันดับเรียนคันถะธุระ ๒๐, อันดับเรียนวิปัสสนาธุระ ๒๖ รวมพระสงฆ์ ๖๑ รูป แล้ว พระราชทานเทียนอุโบสถ แก่พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ไปถวายพระ แลผ้าห่มพระพุทธรูป แก่ภูษามาลาแล้ว จึงพระราชทานกฐิน ตามธรรมเนียมธรรมยุติกา. พระพิมลธรรม (ทับ พุทธสิริ ป.ธ.๙) เป็นผู้ครองกฐิน และทรงประเคนผ้าไตรปี ๑๔ ไตรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานไตรปี แก่พระวุฒิการบดี ให้นำไปพระราชทาน แก่พระวินัยธร (ด้วง) ที่กุฏี ซึ่งอาพาธอยู่ที่กุฏิ.

 

หน้ารวม l พระเจดีย์ l พระวิหาร l พระอุโบสถ

ตุ๊กตาศิลา l หอระฆังและหอกลอง

จากหนังสือโสมนัสสาร ฉบับพิเศษ ครบรอบ ๒๕ ปี และแจกประกาศนียบัตร
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโสมนัสวิหาร ๑๘ กันยายน ๒๕๓๑

© Copyright 2004 watsomanas.com All Right Reserved. www.Stats.in.th