(๑๐) พระเวสสันดรชาดก.
 

     พระเจ้าสัญชัย ทรงครองราชสมบัติ เมืองสีวี มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางผุสดี ธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช. พระนางผุสดีนี้ ในชาติก่อน ๆ ได้เคยถวายแก่นจันทน์หอม เป็นพุทธบูชา และอธิษฐาน ขอให้ได้เป็น พุทธมารดาพระพุทธเจ้า ในกาลอนาคต. ครั้นเมื่อนางสิ้นชีวิต ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อถึงวาระที่จะต้องจุติ มาเกิดในโลกมนุษย์ พระอินทร์ได้ประทานพร สิบประการแก่นาง. ครั้นเมื่อ พระนางผุสดีทรงครรภ์ ใกล้กำหนดประสูติ พระนางปรารถนา ไปเที่ยวชมตลาดร้านค้า. บังเอิญ ในขณะเสด็จประพาสนั้น พระนางทรงเจ็บครรภ์ และประสูติพระโอรส ในบริเวณย่านนั้น. พระโอรสจึงทรงพระนามว่า "เวสสันดร" หมายถึง ในท่ามกลางระหว่างย่านค้าขาย. พร้อมกับที่พระโอรสประสูติ ช้างต้น ของพระเจ้าสญชัย ก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ ได้รับชื่อว่า "ปัจจัยนาค" เป็นช้างต้น คู่บุญพระเวสสันดร.

 
    เมื่อพระกุมารเวสสันดร ทรงเจริญวัยขึ้น ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบริจาคทาน มักขอพระราชทานทรัพย์ จากพระบิดามารดา เพื่อบริจาคแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงขอให้พระบิดา ตั้งโรงทานสี่มุมเมือง เพื่อบริจาคข้าวปลาอาหาร และสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชน. และหากมีผู้มาทูลขอ สิ่งหนึ่งสิ่งใด พระองค์ก็จะทรงบริจาคให้ โดยมิได้เสียดาย ด้วยทรงเห็นว่า การบริจาคนั้น เป็นกุศล เป็นคุณประโยชน์ อันยิ่งใหญ่ ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นความเดือดร้อน ผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขใจ ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และยังทำให้พ้น จากความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว ในทรัพย์สมบัติของตนอีกด้วย. พระเกียรติคุณ ของพระเวสสันดร เลื่องลือไปทั่วทุกทิศ ว่าทรงมีจิตเมตตา แก่ผู้อื่น มิได้ทรงเห็นแก่ความสุขสบาย หรือเห็นแก่ทรัพย์สมบัติ ส่วนพระองค์ มิได้ทรงหวงแหน สิ่งใดไว้สำหรับพระองค์.
     อยู่มาครั้งหนึ่ง ในเมืองกลิงคราษฏร์ เกิดข้าวยากหมายแพง เพราะฝนแล้ง ทำให้เพาะปลูกไม่ได้. ราษฎรอดอยาก ได้รับความเดือนร้อนสาหัส. ประชาชนชาวกลิงคราษฏร์ พากันไปเฝ้าพระราชาทูลว่า "ในเมืองสีวีนั้น มีช้างเผือกคู่บุญ พระเวสสันดร ชื่อว่า ช้างปัจจัยนาค เป็นช้างมีอำนาจพิเศษ ถ้าอยู่เมืองใด จะทำให้ฝนฟ้า ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์จะบริบูรณ์ ขอให้พระเจ้ากลิงคราษฏร์ ส่งทูตเพื่อไปทูลขอช้าง จากพระเวสสันดร พระเวสสันดร ก็จะทรงบริจาคให้ เพราะพระองค์ไม่เคยขัด เมื่อมีผู้ทูลขอสิ่งใด". พระเจ้ากลิงคราษฏร์ จึงส่งพราหมณ์แปดคน ไปเมืองสีวี. ครั้นเมื่อพราหมณ์ ได้พบพระเวสสันดร ขณะเสด็จประพาสพระนคร ประทับบนหลังช้างปัจจัยนาค พราหมณ์จึงทูลขอช้างคู่บุญ เพื่อดับทุกข์ชาวกลิงคราษฏร์. พระเวสสันดร ก็โปรดประทานให้ตามที่ขอ.
 
      ชาวสีวี เห็นพระเวสสันดร ทรงบริจาคช้างปัจจัยนาค คู่บ้านคู่เมืองไปดังนั้น ก็ไม่พอใจ พากันโกรธเคืองว่า "ต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก เมื่อไม่มีช้างปัจจัยนาคเสียแล้ว" จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัย ทูลกล่าวโทษ พระเวสสันดรว่า บริจาคช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่ชาวเมืองอื่นไป ขอให้ขับพระเวสสันดร ไปเสียจากเมืองสีวี". พระเจ้าสญชัย ไม่อาจขัดราษฏรได้ จึงจำพระทัย มีพระราชโองการ ให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมืองไป. พระเวสสันดรไม่ทรงขัดข้อง แต่ทูลขอพระราชทานโอกาส บริจาคทานครั้งใหญ่ ก่อนเสด็จออกจากพระนคร. พระบิดาก็ทรงอนุญาตให้. พระเวสสันดร ทรงบริจาคสัตตกมหาทาน คือ บริจาคทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย แก่ประชาชนชาวสีวี. เมื่อพระนางมัทรี พระมเหสีของพระเวสสันดร ทรงทราบว่า "ประชาชนขอให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมือง" ก็กราบทูลพระเวสสันดรว่า "พระองค์เป็นพระราชสวามี ของหม่อมฉัน พระองค์เสด็จไปที่ใด หม่อมฉันจะขอติดตาม ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มิได้ย่อท้อต่อความลำบาก ขึ้นชื่อว่า เป็นสามีภรรยาแล้ว ย่อมต้องอยู่เคียงข้างกัน ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ายามสุข หรือทุกข์ โปรดประทานอนุญาต ให้หม่อมฉันติดตาม ไปด้วยเถิด".
 
     พระเวสสันดร ไม่ทรงประสงค์ให้พระนางมัทรี ติดตามพระองค์ไป เพราะการเดินทางไป จากพระนคร ย่อม มีแต่ความยากลำบาก ทั้งพระองค์เอง ก็ทรงปรารถนาจะเสด็จไปประทับ บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่า พระนางมัทรี ไม่คุ้นเคยต่อสภาพเช่นนั้น ย่อมจะต้องลำบากยากเข็ญ ทั้งอาหารการกิน และความเป็นอยู่. แต่ไม่ว่าพระเวสสันดร จะตรัสห้ามปรามอย่างไร นางก็มิยอมฟัง. บรรดาพระประยูรญาติ ก็พากันอ้อนวอน ขอร้อง พระนางก็ทรงยืนกรานว่า "จะติดตาม พระราชสวามีไปด้วย". พระนางผุสดี จึงทรงไปทูลขอพระเจ้าสญชัย มิให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมือง. พระเจ้าสญชัยตรัสว่า "บ้านเมืองจะเป็นสุขได้ ก็ต่อเมื่อราษฏรเป็นสุข พระราชาจะเป็นสุขได้ ก็เมื่อราษฏรเป็นสุข. ถ้าราษฏรมีความทุกข์ พระราชา จะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ราษฏรพากัน กล่าวโทษพระเวสสันดรว่า จะทำให้บ้านเมืองยากเข็ญ เราจึงจำเป็นต้องลงโทษ แม้ว่า พระเวสสันดร จะเป็นลูกของเราก็ตาม". ไม่ว่าผู้ใดจะห้ามปรามอย่างไร พระนางมัทรี ก็จะตามเสด็จพระเวสสันดร ไปให้จงได้. พระเจ้าสญชัย และพระนางผุสดีจึงขอเอา พระชาลี พระกัณหา โอรสธิดา ของพระเวสสันดรไว้. แต่พระนางมัทรี ก็ไม่ยินยอม ทรงกล่าวว่า "เมื่อชาวเมืองสีวี รังเกียจพระเวสสันดร ให้ขับไล่ไปเสียดังนี้ พระโอรสธิดา จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ชาวเมืองโกรธแค้นขึ้นมา พระชาลีกัณหา ก็จะทรงได้รับความลำบาก จึงควรที่จะออกจากเมือง ไปเสียพร้อมพระบิดาพระมารดา".
 
      ในที่สุด พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระมเหสี และโอรสธิดา ก็ออกจากเมืองสีวีไป. แม้ในขณะนั้น ชาวเมือง ยังตามมาทูลขอ รถพระที่นั่ง. ทั้งสี่พระองค์ จึงต้องทรงดำเนินด้วยพระบาท ออกจากเมืองสีวี มุ่งไปสู่ป่า เพื่อบำเพ็ญพรตภาวนา. ครั้นเสด็จมา ถึงเมืองมาตุลนคร บรรดากษัตริย์เจตราช ทรงทราบข่าว จึงพากันมาต้อนรับ พระเวสสันดร ทรงถามถึงทางไปสู่เขาวงกต. กษัตริย์เจตราช ก็ทรงบอกทางให้ และเล่าว่า "เขาวงกตนั้น ต้องเดินทางผ่านป่าใหญ่ ที่เต็มไปด้วยอันตราย แต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็จะเป็นบริเวณร่มรื่น สะดวกสบาย มีต้นไม้ผล ที่จะใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้กษัตริย์เจตราช ยังได้สั่งให้พรานป่าเจตบุตร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญป่าแถบนั้น ให้คอยเฝ้าระแวดระวัง รักษาต้นทางที่จะไปสู่เขาวงกต เพื่อมิให้ผู้ใด ไปรบกวนพระเวสสันตร ในการบำเพ็ญพรต เว้นแต่ทูตจากเมืองสีวี ที่จะมาทูลเชิญ เสด็จกลับนครเท่านั้น ที่จะยอมให้ผ่านเข้าไปได้.
 
     เมื่อเสด็จไป ถึงบริเวณสระโบกขรณี อันเป็นที่ร่มรื่นสบาย พระเวสสันดร พระนางมัทรี ตลอดจนพระโอรสธิดา ก็ผนวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีพรานป่าเจตบุตร คอยรักษาต้นทาง. ณ ตำบลบ้านทุนนวิฐ เขตเมืองกลิงคราษฏร์ มีพราหมณ์เฒ่าชื่อชูชก หาเลี้ยงชีพด้วยการขอทาน. ชูชกขอทานจนได้เงินมามาก จะเก็บไว้ เองก็กลัวสูญหาย จึงเอาไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้. อยู่มาวันหนึ่ง ชูชกไปหาพราหมณ์ ที่ตนฝากเงินไว้ จะขอเงินกลับไป ปรากฎว่าพราหมณ์นั้น นำเงินไปใช้หมดแล้ว จะหามาใช้ให้ชูชกก็หาไม่ทัน จึงจูงเอาลูกสาวชื่อ อมิตตดา มายกให้แก่ชูชก. พราหมณ์กล่าวแก่ชูชกว่า "ท่านจงรับเอาอมิตตดา ลูกสาวเราไปเถิด จะเอาไปเลี้ยงเป็นลูก หรือภรรยา หรือจะเอาไปเป็นทาส รับใช้ปรนนิบัติ ก็สุดแล้วแต่ท่านจะเมตตา". ชูชกเห็นนางอมิตตดา หน้าตาสะสวยงดงาม ก็หลงรัก จึงพานางไปบ้าน เลี้ยงดูนางในฐานะภรรยา. นางอมิตตดา อายุ ยังน้อย หน้าตางดงาม และมีความกตัญญูต่อพ่อแม่. นางจึงยอมเป็นภรรยา ชูชกผู้แก่เฒ่า รูปร่างหน้าตา น่ารังเกียจ. อมิตตดา ปรนนิบัติชูชก อย่างภรรยาที่ดี จะพึงกระทำทุกประการ. นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือน ไม่มีขาดตกบกพร่อง. ชูชกไม่เคยต้องบ่นว่า หรือตักเตือนสั่งสอน แต่อย่างใดทั้งสิ้น. ความประพฤติที่ดี เพียบพร้อมของนางอมิตตดา ทำให้เป็นที่สรรเสริญ ของบรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ในหมู่บ้านนั้น.
 
     บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น ก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตน ที่มิได้ประพฤติตนเป็น แม่บ้านแม่เรือน อย่างอมิตตดา. บางบ้านก็ถึงกับทุบตีภรรยา เพื่อให้รู้จักเอาอย่างนาง. เหล่านางพราหมณีทั้งหลาย ได้รับความเดือดร้อน ก็พากันโกรธแค้น นางอมิตตดาว่า เป็นต้นเหตุ. วันหนึ่ง ขณะที่นางไปตักน้ำ ในหมู่บ้าน บรรดานางพราหมณี ก็รุมกันเย้ยหยัน ที่นางมีสามีแก่ หน้าตาน่าเกลียด อย่างชูชก. นางพราหมณี พากันกล่าวว่า "นางก็อายุน้อย หน้าตางดงาม ทำไมมายอมอยู่กับเฒ่าชรา น่ารังเกียจอย่างชูชก หรือว่ากลัวจะหาสามีไม่ได้ มิหนำซ้ำ ยังทำตนเป็นกาลกิณี พอเข้ามาในหมู่บ้าน ก็ทำให้ชาวบ้านสิ้นความสงบสุข เขาเคยอยู่กันมาดี ๆ พอนางเข้ามา ก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า หาความสงบไม่ได้ นางอย่าอยู่ในหมู่บ้านนี้เลย จะไปไหนก็ไปเสียเถิด". ไม่เพียงกล่าววาจาด่าทอ ยังพากันหยิกทึ้ง ทำร้ายนางอมิตตดา จนนางทนไม่ได้ ต้องหนีกลับบ้าน ร้องไห้ มาเล่าให้ชูชกฟัง. ชูชกจึงบอกว่า "ต่อไปนี้ นางไม่ต้องทำการงานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง". นางอมิตตดาจึงว่า "ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามี มาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิง ที่พ่อแม่อบรม สั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้ว ให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวาร มาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า".
 

     ชูชก ได้ฟังดังนั้น ก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชาย มาจากไหน. นางอมิตตดาจึงแนะว่า "ขณะนี้ พระเวสสันดร เสด็จออกมาจากเมืองสีวี มาทรงบำเพ็ญพรต อยู่ในป่าเขาวงกต พระองค์เป็นผู้ใฝ่ ในการบริจาคทาน. ท่านจงเดินทางไป ขอบริจาคพระชาลีกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดร มาเป็นข้าทาส ของเราเถิด".
ชูชกไม่อยากเดินทางไปเลย เพราะกลัวอันตรายในป่า แต่ครั้นจะไม่ไป ก็กลัวนางอมิตตดา จะทอดทิ้ง ไม่ยอมอยู่กับตน. ในที่สุด ชูชกจึงตัดสินใจ เดินทางไปเขาวงกต เพื่อทูลขอพระชาลีกัณหา. เมื่อไปถึงบริเวณปากทางเข้าสู่เขาวงกต ชูชกก็ได้พบพรานเจตบุตร ผู้รักษาปากทาง. หมาไล่เนื้อ ที่พรานเลี้ยงไว้ พากันรุมไล่ต้อนชูชก ขึ้นไปจนมุมอยู่บนต้นไม้. พรานเจตบุตรก็เข้าไปตะคอกขู่. ชูชกนั้นเป็นคนมีไหวพริบ สังเกตดูเจตบุตร ก็รู้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีฝีมือเข้มแข็ง แต่ขาดไหวพริบ จึงคิดจะใช้วาาจาลวงเจตบุตร ให้หลงเชื่อ พาตนเข้าไปพบพระเวสสันดรให้ได้. ชูชกจึงกล่าวแก่เจตบุตรว่า "นี่แนะเจ้าพรานป่าหน้าโง่ เจ้าหารู้ไม่ว่า เราเป็นใคร ผู้อื่นเขาจะเดินทางมา ให้ยากลำบากทำไมจนถึงนี่. เรามาในฐานะทูต ของพระเจ้าสญชัย เจ้าเมืองสีวี จะมาทูลพระเวสสันดรว่า "บัดนี้ชาวเมืองสีวี ได้คิดแล้ว จะมาทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร เราเป็นผู้มาทูลพระองค์ไว้ก่อน เจ้ามัวมาขัดขวางเราอยู่อย่างนี้ เมื่อไรพระเวสสันดร จะได้เสด็จคืนเมือง". เจตบุตรได้ยินก็หลงเชื่อ เพราะมีความจงรักภักดี อยากให้พระเวสสันดร เสด็จกลับเมืองอยู่แล้ว จึงขอโทษชูชก จัดการหาอาหารมาเลี้ยงดู แล้วชี้ทางให้เข้าไปสู่อาศรม ที่พระเวสสันดร บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่.

 
     เมื่อชูชก มาถึงอาศรม ก็คิดได้ว่า "หากเข้าไปทูลขอพระโอรสธิดา ในขณะพระนางมัทรีอยู่ด้วย พระนาง คงจะไม่ยินยอมยกให้ เพราะความรักอาลัย พระโอรสธิดา จึงควรจะรอจนพระนาง เสด็จไปหาผลไม้ในป่าเสียก่อน จึงค่อยเข้าไปทูลขอ ต่อพระเวสสันดรเพียงลำพัง". ในวันนั้น พระนางมัทรี ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัย เป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนกลางคืน พระนางทรงฝันร้ายว่า "มีบุรุษร่างกายกำยำ ถือดาบ มาตัดแขนซ้ายขวา ของพระนางขาดออกจากกาย. บุรุษนั้น ควักดวงเนตรซ้ายขวา แล้วยังผ่าเอาดวงพระทัย พระนางไปด้วย. พระนางมัทรี ทรงสังหรณ์ว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จึงทรงละล้าละลัง ไม่อยากไปไกล จากอาศรม แต่ครั้นจะไม่เสด็จไป ก็จะไม่มีผลไม้ มาให้พระเวสสันดร และโอรสธิดาเสวย. พระนางจึงจูงโอรสธิดาไป ทรงฝากฝังกับพระเวสสันดร ขอให้ทรงดูแล ตรัสเรียกหาให้เล่นอยู่ใกล้ ๆ บรรณศาลา พร้อมกับเล่าความฝัน ให้พระเวสสันดรทรงทราบ. พระเวสสันดร ทรงหยั่งรู้ว่า จะมีผู้มาทูลขอพระโอรสธิดา แต่ครั้นจะบอกความตามตรง พระนางมัทรี ก็คงจะทนไม่ได้. พระองค์เองนั้น ตั้งพระทัยมั่นว่า จะบริจาคทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกประการ ในกายนอกกาย แม้แต่ชีวิต และเลือดเนื้อของพระองค์ หากมีผู้มาทูลขอ ก็จะทรงบริจาคให้ โดยมิได้ทรงเสียดาย หรือหวาดหวั่น พระเวสสันดร จึงตรัสกับพระนางมัทรีว่า "จะดูแลพระโอรสธิดาให้". พระนางมัทรี จึงเสด็จไปหาผลไม้ในป่าแต่ลำพัง.
 
     ครั้นชูชก เห็นได้เวลาแล้ว จึงมุ่งมาที่อาศรม ได้พบพระชาลีพระกัณหา ทรงเล่นอยู่หน้าอาศรม ก็แกล้งขู่ ให้สองพระองค์ตกพระทัย เพื่อข่มขวัญไว้ก่อน แล้วชูชกพราหมณ์เฒ่า ก็เข้าไปเฝ้าพระเวสสันดร กล่าว วาจากราบทูล ด้วยโวหารอ้อมค้อมลดเลี้ยว ชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อทูลขอพระโอรสธิดา ไปเป็นข้าช่วงใช้ของตน. พระเวสสันดร ทรงมีพระทัยยินดี ที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน อันหมายถึงว่า พระองค์เป็นผู้สละกิเลส ความหวงแหน ในทรัพย์สมบัติทั้งปวง แม้กระทั่งบุคคล อันเป็นที่รัก ก็สามารถสละเป็นทาน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่พระองค์ทรงผัดผ่อนต่อชูชกว่า ขอให้พระนางมัทรี กลับมาจากป่า ได้ร่ำลาโอรสธิดา เสียก่อน. ชูชกก็ไม่ยินยอม กลับทูลว่า "หากพระนางกลับมา สัญชาตญาณแห่งมารดา ย่อมจะทำให้พระนาง หวงแหนห่วงใย พระโอรสธิดา ย่อมจะไม่ทรงให้พระโอรสธิดา พรากจากไปได้ หากพระองค์ทรงปรารถนา จะบำเพ็ญทานจริง ก็โปรดยกให้หม่อมฉันเสีย แต่บัดนี้เถิด".
 
     พระเวสสันดร จนพระทัย จึงตรัสเรียกหาพระโอรสธิดา. แต่พระชาลีกัณหา ซึ่งแอบฟังความอยู่ใกล้ ๆ ได้ทราบว่า "พระบิดา จะยกตนให้แก่ชูชก" ก็ทรงหวาดกลัว จึงพากันไปหลบซ่อน โดยเดินถอยหลัง ลงสู่สระบัว เอาใบบัวบังเศียรไว้. ชูชก เห็นสองกุมารหายไป จึงทูลประชดประชัน พระเวสสันดรว่า "ไม่เต็มพระทัยบริจาคจริง ทรงให้สัญญาณ สองกุมารหนีไปซ่อนตัวเสียที่อื่น". พระเวสสันดร จึงทรงต้องออกมาตามหา พระชาลีกัณหา ครั้นทอดพระเนตรเห็นรอยเท้า เดินขึ้นมาจากสระ จึงตรัสเรียกพระโอรสธิดาว่า "ชาลีกัณหา เจ้าจงขึ้นมาหาพ่อเถิด หากเจ้านิ่งเฉยอยู่ พราหมณ์เฒ่า ก็จะเยาะเย้ยว่า พ่อนี้ไร้วาจาสัตย์ พ่อตั้งใจจะบำเพ็ญทานบารมี เพื่อสละละกิเลส ให้บรรลุพระโพธิญาณ จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ในภายภาคหน้า ให้พ้นจากทุกข์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เจ้าจงมาช่วยพ่อ ประกอบการบุญ เพื่อบรรลุผล คือ พระโพธิญาณนั้นเถิด". ทั้งสองกุมาร ทรงได้ยินพระบิดาตรัสเรียก ก็ทรงรำลึกได้ ถึงหน้าที่ของบุตรที่ดี เชื่อฟังบิดามารดา รำลึกได้ถึงความ พากเพียร ของพระบิดา ที่จะประกอบบารมี เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งยังรำลึกถึงขัตติยมานะว่า ทรงเป็นโอรสธิดากษัตริย์ ไม่สมควรจะหวาดกลัว ต่อสิ่งใด จึงเสด็จขึ้นมาจากสระบัว. พระบิดาก็จูงทั้งสองพระองค์ มาทรงบริจาคเป็นทานแก่ชูชก.
 
     ชูชก ครั้นได้ตัวพระชาลีกัณหา เป็นสิทธิขาดแล้ว ก็แสดงอำนาจ ฉุดลากเอาสองกุมาร เข้าป่าไป เพื่อจะให้เกิดความยำเกรงตน. พระเวสสันดร ทรงสงสารพระโอรสธิดา แต่ก็ไม่อาจทำประการใดได้ เพราะทรงถือว่า ได้บริจาค เป็นสิทธิแก่ชูชกไปแล้ว. ครั้นพระนางมัทรี ทรงกลับมาจากป่า ในเวลาพลบค่ำ เที่ยวตามหาโอรสธิดาไม่พบ ก็มาเฝ้าทูลถามจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรจะทรงตอบ ความจริงก็เกรงว่า นางจะทนความเศร้าโศกมิได้ จึงทรงแกล้งตำหนิว่า "นางไปป่าหาผลไม้ กลับมาจนเย็นค่ำ คงจะรื่นรมย์มาก จนลืมนึกถึงโอรสธิดาและสวามี ที่คอยอยู่". พระนางมัทรีได้ทรงฟัง ก็เสียพระทัย ทูลตอบว่า "เมื่อหม่อมฉัน จะกลับอาศรม มีสัตว์ร้ายวนเวียน ดักทางอยู่ หม่อมฉันจะมาก็มามิได้ จนเย็นค่ำ สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงจากไป หม่อมฉันมีแต่ความสัตย์ซื่อ มิได้เคยคิดถึงความสุขสบายส่วนตัวเลย แม้แต่น้อยนิด บัดนี้ ลูกของหม่อมฉันหายไป จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็มิทราบ หม่อมฉันจะเที่ยวติดตามหา จนกว่าจะพบลูก". พระนางมัทรี ทรงออกเที่ยวตามหาพระชาลีกัณหา ตามรอบบริเวณศาลาเท่าไร ๆ ก็มิได้พบ จนในที่สุด พระนางก็สิ้นแรงถึงกับสลบไป. พระเวสสันดร ทรงเวทนา จึงทรงนำน้ำเย็น มาประพรมจนนางฟื้นขึ้น ก็ตรัสเล่าว่า ได้บริจาคโอรสธิดา แก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว ขอให้พระนางอนุโมทนา ในทานบารมี ที่ทรงกระทำไปนั้น ด้วยบุตรทาน ที่พระราชสวามีทรงบำเพ็ญ และมีพระทัยค่อยบรรเทา จากความโศกเศร้า.
 
     ฝ่ายท้าวสักกะเทวราช ทรงเล็งเห็นว่า "หากมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไป พระเวสสันดร ก็จะทรงลำบาก ไม่อาจบำเพ็ญเพียรได้ เต็มความปรารถนา เพราะต้องทรงแสวงหา อาหารประทังชีวิต" ท้าวสักกะ จึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์ มาขอรับบริจาคพระนางมัทรี. พระเวสสันดร ก็ทรงปิติยินดี ที่จะได้ประกอบทารทาน คือ การบริจาคภรรยา เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น. พระนางมัทรี ก็ทรงเต็มพระทัย ที่จะได้ทรงมีส่วน ในการบำเพ็ญทานบารมี ตามที่พระเวสสันดร ทรงตั้งพระทัยไว้. เมื่อได้รับบริจาคแล้ว ท้าวสักกะ ก็ทรงกลับคืนร่างดังเดิม และตรัสสรรเสริญ อนุโมทนา ในกุศลแห่งทานบารมี ของพระเวสสันดร แล้วถวายพระนางมัทรี กลับคืนแด่พระเวสสันดร. พระเวสสันดร จึงได้ทรงประกอบบุตรทารทาน อันยากที่ผู้ใดจะกระทำได้ สมดังที่ได้ตั้งพระทัยว่า "จะบริจาคทรัพย์ของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยปราศจากความหวงแหนเสียดาย". ฝ่ายชูชก พาสองกุมารเดินทางมาในป่า ระหกระเหิน ได้รับความลำบากเป็นอันมาก และหลงทาง ไปจนถึงเมืองสีวี บังเอิญผ่าน ไปหน้าที่ประทับ. พระเจ้าสญชัย ทรงทอดพระเนตรเห็น พระนัดดาทั้งสองก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า "พระเวสสันดร ทรงบริจาคพระชาลีกัณหา ให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว". บรรดาเสนาอำมาตย์ และประชาชนทั้งหลาย ต่างก็พากันสงสาร พระกุมารทั้งสอง และตำหนิพระเวสสันดร ที่มิได้ทรงห่วงใยพระโอรสธิดา.
 
     พระชาลี เห็นผู้อื่น พากันตำหนิติเตียนพระบิดา จึงทรงกล่าวว่า "เมื่อพระบิดา เสด็จไปผนวชอยู่ในป่า มิได้ทรงมีสมบัติใด ติดพระองค์ไป แต่ทรงมีพระทัยแน่วแน่ ที่จะสละกิเลส ไม่หลงใหลหวงแหน ในสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้บุคคลอันเป็นที่รัก ก็ย่อมสละได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะทรงมีพระทัยมั่น ในพระโพธิญาณ ในภายหน้า ความรัก ความหลง ความโลภ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ขวางกั้น หนทางไปสู่พระโพธิญาณ. พระบิดาของหม่อมฉัน สละกิเลสได้ดังนี้ จะมาตำหนิติเตียน พระองค์หาควรไม่". พระเจ้าสญชัย ได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี จึงตรัสเรียกพระชาลี ให้เข้าไปหา แต่พระชาลียังคงประทับอยู่ กับชูชกและทูลว่า "พระองค์ยังเป็นทาส ของชูชกอยู่".ู่ พระเจ้าสญชัย จึงขอไถ่สองกุมารจากชูชก. พระชาลีตรัสว่า "พระบิดา ตีค่าพระองค์ไว้พันตำลึงทอง แต่พระกัณหานั้น เป็นหญิง พระบิดาจึงตีค่าตัวไว้สูง เพื่อมิให้ผู้ใด มาไถ่ตัวหรือซื้อขายไปได้ง่าย ๆ. พระกัณหานั้น มีค่าตัวเท่ากับทรัพย์เจ็ดชีวิต เจ็ดสิ่ง เช่น ข้าทาสหญิงชาย เป็นต้น สิ่งละเจ็ดร้อย กับทองคำอีกร้อยตำลึง. พระเจ้าสญชัย ก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลัง มาไถ่ตัวพระนัดดา จากชูชก และโปรด ให้จัดข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงดูชูชก เพื่อตอบแทน ที่พาพระนัดดา กลับมาถึงเมือง.
 
     ชูชก พราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภคอาหารดี ๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมาก จนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด. พระเจ้าสญชัย โปรดให้จัดการศพ แล้วประกาศหาผู้รับมรดก ก็หามีผู้ใดมาขอรับไม่. หลังจากนั้น พระเจ้าสญชัย จึงตรัสสั่งให้จัดกระบวนเสด็จ เพื่อไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรี กลับคืนสู่เมืองสีวี เพราะบรรดาประชาชน ก็พากันได้คิดว่า "พระเวสสันดร ได้ทรงประกอบทานบารมี อันยิ่งใหญ่กว่าทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อประโยชน์ แห่งผู้คนทั้งหลาย หาใช่เพื่อพระองค์เองไม่" เมื่อกระบวนไปถึงอาศรม ริมสระโบกขรณี กษัตริย์ทั้งหก ก็ทรงได้พบกันด้วยความโสมนัสยินดี. พระเจ้าสญชัย จึงตรัสบอกพระเวสสันดรว่า "ประชาชนชาวสีวี ได้เห็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว และพากันร่ำร้อง ได้ทูลเชิญเสด็จกลับเมืองสีวี"
 
     พระเวสสันดร พระนางมัทรี และพระชาลีกัณหา จึงได้เสด็จกลับเมือง. พระเจ้าสญชัย ทรงอภิเษก พระเวสสันดร ขึ้นครองเมืองสืบต่อไป. ครั้นได้เป็นพระราชาแห่งสีวี พระเวสสันดร ก็ทรงยึดมั่น ในการประกอบทานบารมี ทรงตั้งโรงทานบริจาค เป็นประจำทุกวัน. ชาวเมืองสีวี ตลอดจนบ้านเมืองใกล้เคียง ก็ได้รับพระเมตตากรุณา มีความร่มเย็นเป็นสุข. ชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกัน มิได้โลภ กระหาย ในทรัพย์สมบัติ ต่างก็มีจิตใจผ่องใส เป็นสุข เหมือนดังที่พระเวสสันดร ทรงตั้งพระปณิธานว่า "พระองค์จะทรงบริจาค ทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เพราะทรัพย์ทั้งหลาย ทำให้เกิดกิเลส คือ ความโลภ ความหลง ความหวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้ว ผู้รับก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น และมีความชื่นชมยินดี. ผู้ให้ก็จะอิ่มเอมใจว่า ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดความปิติยินดีเช่นกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมได้รับความสุข ความพึงพอใจดังนี้".
 

คติธรรม : บำเพ็ญทานบารมี
สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนืองนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิตบาปหยาบร้ายก็ต้องได้ภัยเพราะตัวเองดั่งชูชกนั้นเอง

คัดลอกจากเว็บไซด์   http://www.learntripitaka.com/
 หน้าแรก  ประวัติวัด  แผนที่ตั้ง ถาวรวัตถุ  ภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ลำดับเจ้าอาวาส   จำนวนพระสงฆ์   วันสำคัญทางศาสนา   วันพระตามปักษ์
ตารางแสดงธรรม  ตารางอบรมกรรมฐาน  พุทธศาสนาวันอาทิตย์  หนังสือธรรมะ  แฟ้มภาพ  บอร์ดสนทนา
© Copyright 2004 Watsomanas.com All Right Reserved.